ประยุทธ์ คุม “ศูนย์กลางแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จ” ผุดจุดคัดกรองทั่วประเทศ
by admin · Published · Updated
พล.อ.ประยุทธ์ นับ 1 แก้โควิด ยกระดับ ศบค. กลับไปใช้ “ศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ” ตามเดิม ตั้ง “ศูนย์คัดกรองของรัฐ” ทุกจังหวัด บูรณาการฉีดวัคซีนหมอ-เอกชน-ประชาชน จัดสถานที่ฉีดรองรับ 3 แสนโดสต่อวัน
วันที่ 26 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุม ได้มีความเห็นว่า การระบาดระลอกใหม่ของโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการบริหารจัดการที่ผ่านมาเป็นอย่างดี จนนำไปสู่การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันเกือบเป็นปกติ โดยที่ผ่านมาอาจจะมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นกลุ่มจังหวัด ก็ไม่มีการล็อกดาวน์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นอกจากนี้ การระบาดระลอกเมษายน 2564 นี้มาเร็ว และกระจายตัวเร็วจนสร้างความวิตกกังวลแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก แม้ว่าไทยจะมีความพร้อมในการรับมือการระบาดครั้งนี้ แต่นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และเห็นควรที่จะดำเนินการดังนี้
ยกระดับ ศบค.- ตั้งศูนย์คัดกรองรัฐ ทั่วประเทศ
1. ด้านการจัดการ ให้มีการ “ยกระดับ ศบค.” โดยให้เป็น “ศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ” เหมือนเดิม หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายและให้อำนาจกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ดูแลไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาและการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน จะสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จและรวดเร็วยิ่งขึ้น
2. ด้านการคัดกรอง ได้มอบหมายให้ ศบค. ดำเนินการจัดให้มี “ศูนย์คัดกรองของรัฐ” ในทุกจังหวัด โดยจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น กทม. จำเป็นต้องมีหลายจุดเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และหากพบผู้ติดเชื้อต้องมีการจัดส่งไปยังสถานที่รักษาที่เหมาะสม โดยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ต้องดูแลให้มีความเพียงพอ
3. ด้านการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ จัดให้โรงพยาบาลสนามที่พร้อมรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ เฝ้าระมัดระวังอาการ ส่วนผู้ที่มีอาการเริ่มต้น และที่มีอาการหนัก ต้องจัดให้มีสถานพยาบาล รองรับ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือสถานพักเอกชน โดย ศบค. จะกำกับและติดตามกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้จัดสถานพยาบาลให้มีเพียงพอกับผู้ที่ติดเชื้อ
ตั้งเป้าฉีดวัคซีน 3 แสนโดสต่อวัน
4. ด้านการฉีควัคซีน ศบค. จะเข้ามาดูแลการจัดสรรที่ควบคู่กันไปกับ บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง ภาคธุรกิจ และประชาชน โดยความสามารถในการฉีดวัคซีน จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน จัดสถานที่ที่เหมาะสม ลดการแออัดของโรงพยาบาล ที่ต้องมุ่งเน้นในการดูแลผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้เป้าหมายต้องฉีดวัคซีนทั้งประเทศให้ได้อย่างน้อย 3 แสนโดสต่อวัน และภายใน 4 เดือน คนไทยประมาณร้อยละ 60 ของกลุ่มเป้าหมาย หรือคิดเป็นประชาชนจำนวน 30 ล้านคน ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก และให้ครบ 50 ล้านคน อย่างน้อยเข็มแรกภายในอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี 2564 นี้
5. สถานะการจัดหาวัคซีนของไทยภายในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ (พ.ค.- ส.ค. 64) จะมีสัญญาที่ยืนยันจัดส่งแล้ว 28 ล้านโดส โดยทั้งปีรวมกัน 63 ล้านโดส และอยู่ในระหว่างการเจรจาอีก 40 ล้านโดส จากหลายผู้ผลิต ซึ่งน่าจะได้รับทราบผลเร็ว ๆ นี้
สำหรับในส่วนระบบการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ได้มีการเตรียมระบบ ”หมอพร้อม” เพื่อรองรับการลงทะเบียนของประชาชน ที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค. 64 นี้ ซึ่งหากระบบดังกล่าวขัดข้องหรือไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะมีระบบที่ได้เตรียมสำรองไว้แล้วโดยธนาคารกรุงไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง
ย้ำ คนไทย 50 ล้านฉีดวัคซีนภายในสิ้นปี
นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า รัฐบาลได้เตรียมการเรื่องนี้เป็นอย่างดี คนไทยกว่า 50 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในปี 2564 นี้อย่างแน่นอน และงบประมาณก็มีเพียงพอที่จะจัดหาวัคซีนได้อีกมาก ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ นั้น ได้มอบหมายให้ ศบค. เร่งดำเนินการในแต่ละด้าน และรายงานกลับมาถึง นายกรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า โดยแสดงตัวเลขความเพียงพอในทุกมิติ เช่น จำนวนผู้เข้ามาคัดกรอง จำนวนเตียงที่ว่าง จำนวนยาที่ใช้รักษา จำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวนการฉีดวัคซีน เป็นต้น และให้ ศบค. รายงานให้ประชาชนทราบทุกวัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
“ในวันพุธที่ 28 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ก็จะนำเรื่องต่าง ๆ ที่ได้สรุปในวันนี้นำเข้าหารือกับภาคเอกชน ที่แสดงตนมาช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ ว่ามีเรื่องใดที่ซ้ำซ้อน และเรื่องใดที่เสริมกันได้ โดยจะแบ่งหน้าที่กันไป เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดย นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคน เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ